โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง
ในปัจจุบันมีประชากรหลายล้านคนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลการสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย ร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข นั้นคาดว่าจะมีผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งประมาณ70% ของ
คนกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดังกล่าว ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อน
การทำลายของอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมองไต หลอดเลือดและตา เป็นต้น ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีอาการอย่างไร
อาการสำคัญที่พบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คือเหนื่อยง่ายเจ็บหน้าอก ปวดศีรษะโดยทั่วไปจะปวดบริเวณท้ายทอยและมักจะเป็นในตอนเช้า
ถ้าความดันโลหิตสูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีอาการคลื่นไส้และตามัวร่วมด้วย ในบางรายอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดกำเดาออก
เมื่อเกิดอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าพบความดันโลหิตสูงมากจะได้รักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ซึ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติอาการดังกล่าวก็จะหายไป
ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง
• ผู้ที่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานมาก่อน
• โรคครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดร่วมกับการตั้งครรภ์ ความดันโลหิตจะลดลงภายหลังจากการคลอด
• โรคไต เช่น ไตอักเสบ หรือโรคไตเรื้อรังบางชนิด
• ใช้ยาคุมกำเนิดในสุภาพสตรีบางคน ความดันโลหิตจะกลับสู่ปกติเมื่อหยุดใช้ยา
• มีความเครียดและวิตกกังวลมากจนเกินไป

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
1. การควบคุมอาหาร
การลดน้ำหนัก สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
• หลีกเลี่ยงอาหารทอด ไขมันสูง ให้รับประทานอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม แทน
• หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
• รับประทานอาหารประเภทผัก ถั่ว ผลไม้ ให้มากขึ้น
• หลีกเลี่ยงอาหารประเภทของดองเค็ม เนื้อเข็ม หรืออาหารที่มีรสชาติเค็มมากจนเกินไป
2.  ไม่่เครียด พยายามทำจิตใจให้สงบอย่างมีสติและผ่อนคลายต่อสภาวะความเครียด ทั้งในสภาพแวดล้อมต่างๆหรือที่ทำงานซึ่งบางครั้งเราเองนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือหลีกเลี่ยงได้
3. รับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง หากเกิดอาการหรือผลข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ทันทีแพทย์จะได้ ลดขนาดยาหรือเปลี่ยนยาให้เหมาะสมได้
4.  ออกกำลังกายแต่พอประมาณ การออกกำลังกาย20-30นาที จะช่วยท่านลดน้ำหนักได้ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้นก่อนออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวผู้ป่วยเองมากยิ่งขึ้น
5. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อาจทำการวัดความดันโลหิตสัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อมีอาการเครียด ปวดศีรษะ
และควรจดบันทึกค่าต่างๆไว้ด้วย เช่น วันที่ได้ทำการวัดความดัน ค่าความดัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์
ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้แก่ท่านต่อไป