ผู้ป่วยใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้ป่วยใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย
แม้ว่ายาจะสามารถใช้รักษาให้หายป่วยและทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอก็คือ ยาทุกชนิดล้วนแล้วแต่มี
อันตรายเช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์ ดังนั้นก่อนการใช้ยาควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนใช้ทุกครั้ง การใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและ
ปลอดภัยเป็นหัวใจของการรักษาโรคซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร

ดังนั้นเราจึงควรรู้ถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อ ลดความเสี่ยงและได้รับประโยชน์จากการใช้ยาอย่างสูงที่สุดมี 5 ประการ ได้แก่
1. คุยกับแพทย์ เภสัชกร เพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเรา เช่น
• ท่านมีประวัติการแพ้ยาอะไรหรือไม่ ควรจำชื่อยาให้ได้ และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าแพ้ยาชนิดใด
• ระหว่างนี้คุณได้รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆร่วมอยู่ด้วยหรือไม่
• ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง เพราะยาบางตัวนั้นส่งผลกระทบถึงลูกในครรภ์หรือไหลออกมาพร้อมกับน้ำนมแม่ก็ได้
• คุณมีข้อจำกัดบางประการในการใช้ยา เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาหรือกลืนยาได้ยาก แพทย์หรือเภสัชกรจะได้เปลี่ยนรูปแบบยาเพื่อให้สะดวกในการรับประทานมากขึ้น หรือมีอาชีพที่ต้องขับรถเดินทางไกล ทำงานกับเครื่องจักรซึ่งอันตราย จึงไม่สามารถทานยาที่ทำให้ง่วงได้
• หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ละเอียด ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงในการใช้ยาผิดๆได้
2. เมื่อได้รับยาแล้ว ควรทำความรู้จักกับยาที่ใช้ให้มากที่สุด เช่น
• จำชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้าของยาให้ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่คุณแพ้ ลดการใช้ยาซ้ำซ้อนและได้รับยาเกินขนาด
• ให้จำลักษณะของยา เช่น สี กลิ่น รูปร่างของเม็ดยา เป็นต้น เมื่อสภาพของยาเปลี่ยนแปลงไปจากเริ่มแรก เช่น สีเปลี่ยน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวเพราะยาเสื่อมสภาพอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
• ฟังอธิบายการใช้ยาจากเภสัชกร เช่น รับประทานเวลาใด จำนวนเท่าไร และควรรับประทานต่อเนื่องนานแค่ไหนเมื่ออยู่ในสถานการณ์ใดที่ควรหยุดยาและผลข้างเคียงหลังจากรับประทานยา
3. อ่านฉลากยาและปฏิบัติตามคำอธิบายอย่างเคร่งครัด
• ควรทำความเข้าใจวิธีการใช้ยาให้ดีและถูกต้อง หากไม่เข้าใจตรงส่วนไหนควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
• ควรอ่านฉลากยาอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าได้รับประทานยาถูกต้อง
• เก็บยาในพื่นที่ที่เหมาะสมตามที่ระบุบนฉลากของยา
• ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันไว้ในภาชนะเดียวกัน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อน ควรหาถุงแยกออกจากกันและไม่ควรเก็บยาสำหรับใช้ภายในและภายนอกไว้ใกล้เคียงกัน เพราะอาจเกิดการสันสบในการใช้ได้
4. หลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างกันของยา
• ถามแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญว่ายาที่คุณรับประทาน มีปฏิกิริยาระหว่างยา อาหาร เครื่องดื่ม หรือ อาหารเสริมหรือไม่
• ทุกครั้งที่จะได้รับยามาใหม่ ควรนำยาเดิมที่รับประทานอยู่ ไปแสดงให้แพทย์หรือเภสัชกร ได้ตรวจสอบและจัดยาใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกันและได้ยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. ตรวจสอบผลของยาที่จะเกิดขึ้นและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
• ควรทราบวิธีการใช้ยา เพื่อลดอาการข้างเคียง เช่นควรรับประทานยาหลังรับประทานอาหารทันที เพื่อลดอาการปวดท้อง
• ให้ความสำคัญกับอาการต่างๆของร่างกาย หากมีสิ่งใดผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
• รู้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
แม้ว่าการใช้ยามีอันตรายควบคู่ไปกับคุณประโยชน์ แต่การปฏิบัติตนเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาสามารถทำได้ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากจนเกินกว่าที่จะปฏิบัติได้จริง แต่ประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งและควรระลึกไว้เสมอว่าการที่ท่านมีส่วนร่วมกับแพทย์ เภสัชกร
และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ยาของตัวท่านเองอย่างใกล้ชิดจะทำให้ท่านมีความปลอดภัยในการใช้ยามากยิ่งขึ้น