ข้อมูลโรงพยาบาล

ข้อมูลโรงพยาบาล

พ.ศ.2484 ได้เริ่มมีการจัดตั้งสุขศาลาขึ้นที่ หมู่ที่ 1 ตำบลองครักษ์ โดยมีผดุงครรภ์ชั้น 2 ประจำการตลอดมา มีหน้าที่เกี่ยวกับผดุงครรภ์ และการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ และเริ่มเจริญเติบโตมาเรื่อย ๆ ต่อมามีเจ้าหน้าที่อนามัยประจำตลอดมาจนถึงมีพยาบาลประจำอยู่

พ.ศ.2510 (1 มีนาคม 2510) กระทรวงสาธารณสุขได้เลื่อนฐานะจากสุขศาลาขึ้นเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง กรมอนามัย ต่อมาได้จัดส่งแพทย์มาประจำและมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับผู้มีจิตศรัทธายกที่ดินให้จำนวน 9 ไร่เศษ เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีอนามัยชั้นหนึ่งและได้รับงบประมาณจากงบพัฒนาภาคตะวันออกในขณะนั้นกับงบ ปกติ ของกรมอนามัยจำนวน 250,000 บาท มาจัดสร้างเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นอาคารใต้ถุนสูง กำหนดรับผู้ป่วยไว้รักษาได้ จำนวน 10 เตียง และได้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เรื่อยมา

พ.ศ.2521 (1กันยายน 2521) ได้เปลี่ยนจากสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลชุมชนองครักษ์ กำหนดรับผู้ป่วยไว้รักษาได้ จำนวน 10 เตียง โดยใช้สถานที่อนามัยชั้นหนึ่งเดิม

พ.ศ.2525 โรงพยาบาลได้ขอความร่วมมือจากพ่อค้า ประชาชน และผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันจัดหาเงิน และวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างอาคารสำหรับผู้ป่วยใน อาคารพระราชปัญญาโกศล ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กว้าง 21 เมตร ยาว 36 เมตร ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ชั้นละ 30 เตียง มีห้องพิเศษ 10 ห้อง รวมรับคนไข้ได้ 70 เตียง และยังมีห้องประชุมอีกหนึ่งห้อง การก่อสร้างได้เสร็จเรียบร้อยในปี 2527 รวมค่าก่อสร้างประมาณ 2 ล้านบาทเศษ

พ.ศ.2528 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติให้ยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง

พ.ศ.2529 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 7 ล้านบาทเศษ สำหรับก่อสร้างตึกผู้ป่วยนอก หลังใหม่ บ้านพัก พร้อมกับโรงครัว โรงซักฟอก บ้านพักเจ้าหน้าที่ หอถังน้ำสูงสำหรับการประปา ภายในโรงพยาบาลและโรงไฟฟ้า และต่อมาปี 2530 ได้รับบริจาคที่ราชพัสดุ จำนวน 7 ไร่ 1 ตารางวา สำหรับขยายกิจการ และในปี 2531 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างรั้วโรงพยาบาล สรุปแล้วขณะนี้ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 16 ไร่เศษ

พ.ศ.2536 กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติให้ยกฐานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง

พ.ศ.2541 อาคารผู้ป่วยในหลังเดิม ได้เกิดการทรุดตัว จำเป็นต้องทำการรื้อถอน และก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นทดแทน โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการจัดหาทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน และพ่อค้า ประชาชนได้รับเงินบริจาคประมาณ 4 ล้านบาท พร้อมกับได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวนประมาณ 10 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทน โรงพยาบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามอาคารหลังใหม่ว่า อาคารรัตนราชสุดาอุปถัมภ์ และเสด็จฯทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2543